พญ.ธาริณี ลำลึก สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลพญาไท 2
อธิบายถึงการเตรียมตัวก่อนคลอดธรรมชาติ ไว้ในบทความ “คลอดธรรมชาติ”
การคลอดธรรมชาติ หมายถึง การคลอดลูกเองโดยไม่ใช้การผ่าตัด
ซึ่งเป็นวิธีการที่ปลอดภัยและเหมาะสำหรับคุณแม่ส่วนใหญ่ที่มีการตั้งครรภ์ปกติ
และไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ไม่สามารถคลอดเองได้
แต่หากมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอดก็จำเป็นต้องพิจารณาวิธีอื่นๆตามข้อบ่งชี้
คลอดธรรมชาติ ใช้เวลาตั้งครรภ์กี่สัปดาห์ คุณแม่จะเจ็บท้องคลอดในช่วงเวลาไหน
โดยปกติของการคลอดธรรมชาตินั้น จะใช้เวลาในการตั้งครรภ์ทั้งหมด 40 สัปดาห์
โดยเริ่มนับจากการมาประจำเดือนครั้งสุดท้าย และจะถือว่าครบกำหนด พร้อมคลอดเมื่อมีอายุครรภ์ได้ 37 สัปดาห์
ซึ่งอยู่ในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คุณแม่ 70-80% จะมีอาการเจ็บท้องคลอดในช่วงเวลานี้
อาการใกล้คลอดที่สำคัญของการคลอดธรรมชาติ
เจ็บท้องคลอด
อาการเจ็บท้องคลอดจะมีการบีบและคลายตัวของมดลูกเป็นจังหวะ ในระหว่างตั้งครรภ์มดลูก
จะมีการบีบตัวบ้างเป็นระยะอยู่แล้วเมื่อเข้าสู่ไตรมาส 3 แต่เป็นอาการที่มาแล้วหายไป เมื่อไหร่ก็ตามที่มดลูกบีบแล้วคลายต่อเนื่อง
บีบประมาณ 45 - 60 วินาที แล้วคลายตัวประมาณ 2 - 3 นาที จนครบ 1 ยกเป็นเวลา 10 นาที ถ้าเป็นแบบนี้ 2 - 3 ยก
แสดงว่าคุณแม่กำลังจะคลอดแล้ว ซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลังอายุครรภ์ 37 สัปดาห์
นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมที่คุณแม่ควรทราบได้แก่
มีมูกออกจากช่องคลอด หรืออาจจะมีเลือดปนออกมา โดยปกติมูกจะอุดอยู่บริเวณปากมดลูก พอมดลูกเปิด
มูกที่อยู่ปากมดลูกก็จะหลุดออกมา แสดงว่าปากมดลูกเริ่มเปิดแล้ว มีน้ำคร่ำออกมา
น้ำคร่ำมีลักษณะเป็นน้ำใส ๆ ไม่จำเป็นต้องรอให้เยอะมาก เพราะคุณแม่บางคนก็มีน้ำคร่ำมาก บางคนก็น้อย
รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง
สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาในการคลอดธรรมชาติ ประกอบด้วย ตัวเด็กที่ไม่ใหญ่จนเกินไป
ช่องทางคลอดหรืออุ้งเชิงกรานจะต้องไม่เล็กกว่าตัวเด็ก แรงของคุณแม่ที่จะเบ่งเด็กออกมา
ต้องมีมากพอที่จะส่งลงไปเพื่อให้การคลอดลุล่วงไปด้วยดี
วิธีการเตรียมตัวก่อนคลอดธรรมชาติ
การเตรียมตัวก่อนคลอดธรรมชาติ สามารถเริ่มทำได้ทันทีตั้งแต่คุณแม่ทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์
โดยการมาฝากครรภ์กับแพทย์ที่โรงพยาบาล เพราะบางครั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ได้
ยิ่งคุณแม่ฝากครรภ์เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นผลดีกับเด็กในท้องมากเท่านั้น
เพราะทำให้แพทย์สามารถให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองได้อย่างตรงจุด
และสามารถนำไปสู่การคลอดที่ประสบความสำเร็จได้ หรือหากพบความผิดปกติเกิดขึ้นในภายหลัง
แพทย์ก็จะแนะนำการดูแลตัวเองเพื่อเตรียมตัวสำหรับผ่าคลอดให้กับคุณแม่ได้อย่างใกล้ชิด
ระยะต่าง ๆ ของการคลอดลูกธรรมชาติ สามารถแบ่ง ได้เป็น 4 ระยะ
1. ระยะแรกของการคลอด
1.1 ช่วงแรกของการคลอด
ในช่วงแรกของการคลอด เราอาจแบ่งได้เป็น 3 ส่วน สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้น คือ ตัวปากมดลูกจะเริ่มบางและเกิดการขยายตัว
คุณแม่จะรู้สึกได้ว่ามดลูกบีบตัวทั้งที่ยังไม่อยู่ในช่วงที่ควรจะเป็น ตอนนี้คุณแม่อาจคิดว่าจะคลอดจริง ๆ แต่ยังไม่ใช่
อาการเจ็บอาจเกิดกับบางคน แต่บางคนอาจไม่รู้สึกอะไรเลยแถมยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
อย่างไรก็ดี คุณแม่ควรอธิบายอาการทั้งหมดให้แพทย์ฟัง ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้คุณแม่รอจนกว่ามดลูกจะขยายตัวมากกว่านี้
หรืออาจให้นอนเฝ้าดูอาการที่โรงพยาบาลก่อน
1.2 ช่วงเจ็บเตือน
สำหรับผู้หญิงที่ท้อง ช่วงเจ็บเตือนนี้อาจเป็นช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดเท่าที่คุณเคยประสบมา ไม่ใช่แค่มดลูกคุณจะขยายตัวมากขึ้น
แต่ดูเหมือนว่ามันจะขยายไม่หยุด ในช่วงนี้ปากมดลูกจะขยายตัวจาก 4 เซนติเมตร เป็น 7 เซนติเมตร
ช่วงเจ็บเตือนนี้อาจนานหลายชั่วโมงหรือเป็นวัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคุณแม่ และสภาพร่างกายของลูกด้วย
พยายามทำตัวเองให้ผ่อนคลาย โดยใช้ทฤษฎีการหายใจ ถ้าคุณแม่รู้สึกสบายตัวขึ้นให้ลองลุกขึ้นยืนหรือเดินไปรอบ ๆ
แทนที่จะนอนอยู่บนเตียง ขอให้อดทนไว้ก่อนอย่าเพิ่งเบ่ง
1.3 เจ็บพร้อมคลอด
เมื่อมดลูกขยายตัวจาก 7 เซนติเมตร เป็น 10 เซนติเมตร ณ ตอนนี้คุณแม่อยู่ในช่วงเจ็บพร้อมคลอด
หรือกำลังเข้าระยะที่สองของการคลอด ถือว่าเป็นช่วงที่เจ็บที่สุดของการคลอด การหดตัวของมดลูกจะเพิ่มเป็นสองเท่า
และทวีความรุนแรงขึ้น ในตอนนี้คุณแม่อาจรู้สึกเหนื่อย รำคาญ และรู้สึกไม่สบายตัวอย่างมาก
2. ระยะที่สองของการคลอด
การคลอดลูก
เมื่อปากมดลูกของคุณแม่ได้ขยายตัวถึง 10 เซนติเมตร หรือขยายตัวเต็มที่แล้ว ในตอนนี้ลูกของคุณแม่จะค่อย ๆ
ออกมาตามช่องคลอดเองเนื่องจากการบีบตัว หมอจะบอกให้คุณเบ่งเรื่อย ๆ ระยะเวลาของการคลอดนี้จะนานขนาดไหน
ขึ้นอยู่กับขนาดของเด็ก เด็กที่ตัวใหญ่อาจต้องใช้เวลานาน
3. ระยะที่สามของการคลอด
การคลอดรก
เมื่อทำการคลอดเด็กออกมาได้อย่างปลอดภัยแล้ว สิ่งที่ต้องทำในลำดับต่อไปคือการคลอดรก ซึ่งจะถูกทำคลอดโดยแพทย์
เริ่มจากการสวนปัสสาวะก่อนทำคลอดรก เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะว่าง มดลูกหดตัวได้ดี และทำให้รกลอกตัวได้ดี และใช้ถุงตวงเลือด
เพื่อคำนวณเลือดที่สูญเสียไปได้อย่างถูกต้องแม่นยำ จากนั้นจึงทำการคลอดรก คลึงมดลูกให้แข็งตัวและดันยอดมดลูกลงมา
เพื่อไล่ก้อนเลือดที่อยู่ในโพรงมดลูก ช่วยให้มดลูกว่างและหดรัดตัวดี แล้วเย็บแผลฝีเย็บ เป็นอันจบขั้นตอนการคลอดรก
4. ระยะที่สี่ของการคลอด
การฟื้นฟู
เมื่อคลอดลูกเสร็จสมบูรณ์และรกเด็กได้ออกมาหมดแล้ว ทีนี้ก็ถึงคราวที่คุณแม่จะเริ่มผ่อนคลายได้
นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะให้น้ำนมลูก เพราะการให้น้ำนมในช่วงหลังคลอดนี้
จะช่วยกระตุ้นร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่ช่วยในการผลิตน้ำนม และช่วยใหมดลูกเข้าที่และฟื้นฟูได้เร็วขึ้นด้วย
การเตรียมตัวก่อนคลอดธรรมชาติที่สำคัญที่สุด คือคุณแม่ต้องดูแลตัวเองให้ดี เลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติใด ๆ ระหว่างตั้งครรภ์ อย่าลังเลที่จะมาพบแพทย์
เพื่อวินิจฉัยอาการอย่างละเอียด เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน เพียงเท่านี้ก็ปลอดภัยไม่อันตรายอย่างที่คุณแม่กลัว