ภัยคุกคามลูก อาจไม่ได้มาในรูปแบบของโรคภัย เชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียเสมอไป แต่อาจมาในรูปแบบของฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ก็เป็นได้
เมื่อหมอกที่ปกคลุมท้องฟ้าไม่ใช่ไอน้ำ แต่กลายเป็นฝุ่นและมลภาวะทางอากาศ ที่อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพร่างกาย คุณพ่อคุณแม่จึงควรทำความเข้าใจฝุ่น PM2.5 เหล่านี้ และหาทางรับมือป้องกันอย่างถูกวิธี ก่อนโรคร้ายจะแวะมาทักทายลูกน้อยของเรา
PM2.5 คืออะไร ?
PM2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์) ซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ขนจมูกไม่สามารถกรองหรือดักไว้ได้ ดังนั้น ฝุ่นละอองจึงเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ง่าย และอาจเป็นพาหะนำสารอื่น อาทิ แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก และสารก่อมะเร็งต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน
PM2.5 มาจากไหน ?
PM2.5 เกิดขึ้นจากแหล่งกำเนิด 2 รูปแบบ คือ
1. แหล่งกำเนิดโดยตรง อาทิ การเผาไหม้ในที่โล่ง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเผาพื้นที่เพาะปลูก หรืออุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่, การคมนาคม จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงดีเซลและแก๊สโซฮอล์, การผลิตไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรม
2. การรวมตัวของก๊าซต่าง ๆ ในอากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกได์ (SO2), ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx), สารปรอท (Hg) และแคดเมียม (Cd) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสารพิษที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายทั้งสิ้น
PM2.5 อันตรายต่อเด็กมากแค่ไหน ?
PM2.5 เป็นภัยร้ายที่มองไม่เห็น เมื่อฝุ่นขนาดเล็กนี้เข้าไปสะสมในร่างกาย จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยในเด็กจะเสี่ยงอันตรายมากกว่า เพราะระบบภูมิคุ้มกันยังทำงานได้ไม่เต็มที่ โดยฝุ่นละอองนี้จะเข้าไปรบกวนระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก ส่งผลให้ระบบอื่น ๆ ในร่างกายได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก มีดังนี้
1. แสบตา แสบจมูก มีไข้
เป็นอาการระยะแรกที่สังเกตได้ทันทีที่เด็กได้รับฝุ่นละออง PM2.5 เด็กอาจมีอาการทั้งแสบตา แสบจมูก ตาแดง และเป็นไข้รวมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีโรคประจำตัว อาทิ หอบหืด ภูมิแพ้ อาจมีอาการหายใจเร็วเฉียบพลันและแน่นหน้าอกร่วมด้วย
2. สมองมีพัฒนาการช้า และสมาธิสั้น
เมื่อร่างกายได้รับฝุ่นละอองสะสมอย่างต่อเนื่อง ฝุ่นเหล่านี้จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้การทำงานของสมองช้าลง ทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายอักเสบ ระบบต่าง ๆ ในร่างกายของเด็กจะทำงานผิดปกติ และส่งผลให้มีสมาธิสั้นลง
3. ภูมิคุ้มกันเสื่อม และติดเชื้อรุนแรง
เมื่อฝุ่นละอองเข้าสู่กระแสเลือด จะส่งผลให้ภูมิต้านทานของเด็กเสื่อมลง ส่งผลให้เด็กติดเชื้อง่าย และมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
4. ถุงลมขยายไม่เต็มที่
หากไม่หาวิธีป้องกันอย่างทันท่วงที อาจทำให้ปอดของเด็กทำงานไม่เต็มที่ เสี่ยงต่อการเป็นภูมิแพ้ที่รุนแรงขึ้น และลุกลามไปจนถึงมะเร็งปอดได้
5. อาจเป็นโรคร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต
ไม่เพียงแต่ระบบทางเดินหายใจเท่านั้น เมื่อฝุ่นละอองเข้าไปขัดขวางสมองที่กำลังพัฒนาของเด็ก อาจส่งผลให้เด็กเป็นโรคร้ายแรงต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น อาทิ โรคมะเร็งปอด โรคหัวใจขาดเลือด โรคปอดอักเสบ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคเส้นเลือดในสมองแตก ตับ ตัน หรือฉีกขาด เป็นต้น
วิธีป้องกันฝุ่นละออง PM2.5
1. ไม่ออกไปวิ่งเล่นกลางแจ้ง
การออกไปวิ่งเล่นกลางแจ้งในภาวะที่อากาศเต็มไปด้วยฝุ่นละออง PM2.5 เท่ากับเพิ่มความเสี่ยงในการได้รับสารพิษต่าง ๆ ในอากาศ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรงดกิจกรรมนอกบ้าน และให้ลูกอยู่ในบ้านมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
2. ติดตั้งเครื่องกรองอากาศ
แม้จะอยู่ภายในอาคาร แต่ฝุ่นก็อาจเล็ดรอดเข้ามาได้จากการเปิดปิดประตูหน้าต่าง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรติดตั้งเครื่องกรองอากาศไว้ในบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องนอนของลูก เพื่อให้ฝุ่น PM2.5 อยู่ห่างไกลจากลูกมากที่สุด นอกจากนี้ควรปิดประตูหน้าต่างของบ้านให้มิดชิด และเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศเพื่อให้อากาศหมุนเวียน
3. ซื้อหน้ากากป้องกัน PM2.5 มาให้ลูกใส่
แม้จะอึดอัดเล็กน้อย แต่การใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 หรือหน้ากาก N95 ก็เป็นสิ่งจำเป็นเมื่อต้องออกจากบ้าน เพราะหน้ากากนี้สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้
4. ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ
การดื่มน้ำ จะช่วยขับสารพิษออกจากร่างกายได้ ควรให้ลูกจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อให้ขับสารพิษต่าง ๆ ออกจากร่างกาย
5. หากลูกมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด
เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ ควรปรึกษาแพทย์และสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด หากพบอาการผิดปกติต่าง ๆ ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
6. ช่วยกันลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดมลพิษ
หากทุกบ้านช่วยกันลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อาทิ การเผาไหม้ที่ไม่จำเป็น การติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ ก็จะช่วยลดมลภาวะฝุ่นละอองเกินมาตรฐานได้อีกทางหนึ่ง
7. ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
คุณพ่อคุณแม่ควรติดตามข่าวสารความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้เตรียมรับมือและหาวิธีการป้องกันอย่างทันท่วงที
ที่มา : www.trueplookpanya.com