โรคที่ต้องระวังในเด็กแรกเกิด

  • 17 April 2019
โรคที่ต้องระวังในเด็กแรกเกิด

ช่วงวัยแรกเกิดเป็นช่วงที่คุณพ่อ คุณแม่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการเลี้ยงดูอย่างสูงเพราะเป็นช่วงที่ร่างกายของเด็กยังพัฒนาไม่สมบูรณ์นัก

 

ดังนั้นเราจึงต้องเรียนรู้ถึงความผิดปกติและอาการต่าง ๆ ที่เกิดกับลูกเรา เพื่อหาทางรับมือได้ถูกต้องหากเราต้องเจอกับปัญหาเหล่านั้น

โรคที่ต้องระวังในเด็กแรกเกิด

1. ภาวะติดเชื้อในเด็กแรกเกิด นับเป็นสิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากเด็กแรกเกิดนั้นยังมีภูมิต้านทานไม่มากพอจึงทำให้เกิดการติดเชื้อได้ โดยมากแล้วปัจจัยที่จะทำให้เด็กติดเชื้อส่วนใหญ่เชื้อจะมาจากแม่โดยเฉพาะแม่ที่มาภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนคลอดนาน ๆ  เพราะเชื้อจากช่องคลอดจะเข้าไปในถุงน้ำคร่ำก่อให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อและเข้าสู่ร่างกายของลูกได้ดังนั้นถ้าแม่มีน้ำเดินก่อนคลอด หรือถุงน้ำคร่ำแตกก่อนคลอด  โดยเฉพาะถ้ายิ่งแตกก่อนที่จะคลอดนานเท่าไหร่โอกาสติดเชื้อก็ยิ่งมากขึ้น เพราะตัวถุงน้ำคร่ำจะเหมือนกับตัวป้องกันเชื้อโรค ถ้าถุงน้ำคร่ำยิ่งแตกนานก็ยิ่งจะทำให้เข้าเชื้อเข้าไปได้ง่าย ดังนั้นหากคุณแม่ตั้งครรภ์หากปวดท้องหรือมีน้ำเดินก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ให้รีบมาพบแพทย์เลยทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะติดเชื้อในลูกที่เกิดมา

เมื่อเด็กทารกที่คลอดออกมาแล้ว อาจมีการแสดงของการอาการติดเชื้อได้หลายอย่างเช่น กินนมน้อย ซึม หายใจผิดปกติ ตัวซีดหรือบางรายอาจมีอาการชักเกร็ง ดังนั้นหากพ่อแม่เห็นว่าทารกมีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรรีบพาทารกมาพบแพทย์อย่างรวดเร็ว

 

2. โรคทางเดินหายใจ  เช่นจมูก ปอด เนื่องจากเด็กแรกเกิดที่เพิ่งออกมาจากครรภ์มารดาเป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่านจากการอาศัยการดำรงชีวิตด้วยแม่มาเป็นตัวของตัวเอง ดังนั้นการทำงานของปอด หรือระบบหายใจอาจจะไม่เต็มที่นัก เรื่องของทางเดินหายใจจึงเป็นสิ่งที่แพทย์ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ

สำหรับเด็กคลอดปกติและอายุครรภ์ครบปัญหาเรื่องการหายใจจะไม่ค่อยน่ากังวลเท่าไหร่ แต่หากเป็นเด็กที่คลอดก่อนกำหนดหรืออายุครรภ์ไม่ถึง 36 สัปดาห์ก็จะต้องเฝ้าระวังเรื่องการทำงานของปอดเป็นพิเศษ

 

3. ภาวะตัวเหลือง ภาวะตัวเหลืองในเด็กทารกเกิดจาก สารเคมีที่เรียกว่า บิลิรูบิน (Bilirubin)เป็นสารสีเหลืองเกิดจากการแตกของเม็ดเลือดแดงมีอยู่ในเลือดสูงตับของทารกแรกเกิดที่ยังทำงานไม่สมบูรณ์นั้นไม่สามารถกำจัดไปได้หมด จึงส่งผลให้เด็กเกิดอาการตัวเหลืองซึ่งโดยมากมักจะเกิดกับเด็กทารกในช่วง2 -3  วันแรกของการคลอด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเด็กจะตัวเหลืองไม่เกิน 10 วัน แต่หากเด็กที่ตัวเหลืองมาก  ๆ หรือ ตัวเหลืองในวันแรกที่คลอดออกมาและเหลืองขึ้นอย่างรวดเร็ว แพทย์จะเจาะเลือดและติดตามผล ซึ่งในบางรายหากตัวเหลืองมาก  ๆ แพทย์จะใช้วิธีการส่องไฟเพื่อรักษาอาการตัวเหลือง

 

4. น้ำตาลในเลือดผิดปกติ  สำหรับทารกที่น้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงกว่าปกติ ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจาก สองสาเหตุ คือ หนึ่ง ตัวคุณแม่ คือถ้าแม่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ก็อาจจะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดของทารกได้ สองสาเหตุจากตัวลูก หากทารกที่คลอดมามีน้ำหนักต่ำกว่า หรือสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดก็อาจจะส่งผลต่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดของทารกต่ำก็เป็นได้

หากพบกว่าทารกที่คลอดออกมามีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ แพทย์จะพิจารณาให้น้ำเกลือควบคู่กับการกินนมแม่

 

 

ทำไมจึงต้องเฝ้าระวังโรคในเด็กแรกเกิด

ช่วงที่เด็กเกิดใหม่เป็นเปลี่ยนช่วงของเปลี่ยนผ่านจากเดิมที่เขาอยู่ในท้องแม่มาตลอดแต่ต้องมาหายใจเอง เป็นตัวของตัวเองอวัยวะต่าง ๆ ก็ต้องทำงานเป็นของตัวเอง  ทำให้ช่วงที่น่าห่วงมากที่สุดก็คือเกิดใหม่ ๆ ไปจนถึงช่วงอายุ 1 เดือนที่ระบบร่างกายรวมถึงหัวใจของเขาจะทำงานได้อย่างปกติด้วยตนเอง

 

เทคนิคแนะนำเพื่อการดูแลลูกน้อย

ในการดูแลเด็กเล็กหรือทารกที่คลอดใหม่นั้นจะดูแลยากกว่าเด็กโตอยู่มาก  เนื่องจากเด็กจะพูดไม่ได้แต่จะแสดงออกทางพฤติกรรมเช่นการตื่นนอนและการร้องไห้เป็นหลัก  คุณพ่อคุณแม่จึงควรที่จะใส่ใจดูแลลูกเป็นพิเศษ ซึ่งต้องอาศัยความเอาใจใส่และความอดทน พอเวลาผ่านไปก็จะเข้าใจและดูแลเขาได้ง่ายขึ้น

อย่างเด็กที่คลอดมาใหม่จะนอนเก่ง จะกินได้ค่อนข้างดี การสื่อสารเขาจะสื่อสารได้ทางเดียวคือการร้องไห้ ดังนั้นคนเป็นพ่อเป็นแม่จึงควรสังเกตว่าเขาร้องไห้นั้นร้องไห้แบบไหนเพราะหากเขาร้องเพราะหิวปากจะขยับ แต่หากร้องไห้เพราะปวดท้องท้องอืดพ่อแม่ก็ควรสังเกตท้องเพราะว่าท้องอืด ตึงกว่าปกติหรือไม่ หรือว่าร้องไห้จากความไม่สบายทั้งก้นแฉะจากการขับถ่ายก็อาจจะเป็นได้  เมื่อสงสัยว่าลูกป่วยหรือผิดปกติจึงควรสังเกตอาการอื่นร่วมด้วย หากเด็กซึมไม่กินนมไม่ต้องรอ ให้มาพบแพทย์เลย

 

นช่วงแรกของการเป็นพ่อแม่มือใหม่ หลาย ๆ คนอาจจะต้องเริ่มปรับตัว เรียนรู้และทำความเข้าใจ รวมถึงทุ่มเทดูแลลูกน้อยจนบางครั้งอาจทำให้เหนื่อยบ้าง ท้อใจบ้าง เวลาส่วนตัวที่เคยมีอยู่ก็หายไปเวลาพักผ่อนก็ไม่มี แต่หากได้เห็นความเติบโต ความเปลี่ยนแปลง และรอยยิ้มของเจ้าตัวเล็กนั้นจะทำให้ความเหนื่อยล้าที่เคยมีนั้นหมดไป เกิดเป็นความสุขที่มาเติมเต็มครอบครัวของคุณได้อย่างแน่นอน

 

ข้อมูลโดย

นพ.อดิศร์ อิงคตานุวัฒน์

กุมารแพทย์ ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4

ข้อมูลเพิ่มเติม  โทร.02-514-4141  ต่อ  3220 – 3221

Tags :