เชื่อว่าการทำธุรกิจเป็นของตนเอง คงเป็นอีกหนึ่งความฝันของใครหลายๆ คน ด้วยหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการพิสูจน์ตัวเอง ทำตามความฝัน หรือการมุ่งหวังสร้างผลกำไรที่สวยงาม บวกกับเทคโนโลยีและนโยบายภาครัฐที่เป็นประโยชน์กับการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้มีผู้ประกอบการผุดขึ้นมามากมาย แน่นอนว่าจุดประสงค์พื้นฐานของการทำธุรกิจ คงหนีไม่พ้นเรื่องกำไร อะไรที่สามารถทำให้ธุรกิจของเราลดรายจ่ายและเพิ่มเป็นกำไรขึ้นมาได้ คงไม่มีใครไม่อยากรู้จริงไหมคะ
วันนี้เราจะมาเจาะประเด็นสำคัญสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ กับความสงสัยเรื่องการเสียภาษี และการทำยังไงให้จ่ายภาษีต่ำที่สุดในขอบเขตกฎหมายหรือเรียกง่ายๆ ว่าลดหย่อนภาษีนั่นเอง เพราะการมีกำไรมากขึ้น ย่อมนำมาซึ่งการเสียภาษีที่มากขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าคุณจะประกอบธุรกิจในรูปแบบใดก็ตาม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการแบบ SMEs นั่นเอง
ก่อนที่เราจะไปทำความเข้าใจว่าทำยังไงให้สามารถลดหย่อนภาษีได้ เรามาทำความเข้าใจกับลักษณะ SMEs แบบคร่าวๆ กันดีกว่าค่ะ ธุรกิจ SMEs เป็นการดำเนินธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง สามารถอยู่ในรูปแบบบุคคลธรรมดา หรือเป็นนิติบุคคล เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด เป็นต้น แต่ต้องมีขนาดตามที่กำหนดคือ มีจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน และมูลค่าของทรัพย์สินที่ไม่รวมที่ดินสูงสุดไม่เกิน 200 ล้านบาท
เพิ่มเติมสำหรับ SMEs ที่จดทะเบียนบริษัท จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามนโยบายของกรมสรรพากร หลักเกณฑ์เพิ่มเติมที่กรมสรรพากรจะดูจากธุรกิจของคุณคือ จะต้องเป็นธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และในรอบบัญชีนั้นมีรายได้ไม่เกิด 30 ล้านบาทอีกด้วยนะคะ
ทีนี้เรามาดูในประเด็นที่หลายๆ คนสนใจกันดีกว่า ว่าเราจะสามารถลดหย่อนภาษีให้กับบริษัทของเราได้อย่างไรบ้าง
สิ่งแรกที่เราสามารถจัดการได้เพื่อเป็นการลดหย่อนภาษีให้กับธุรกิจของเรา คือการตัดสินใจตั้งแต่เริ่มแรกว่าธุรกิจของเราจะดำเนินการไปในรูปแบบใด ทั้ง SMEs แบบบุคคลธรรมดา หรือSMEs แบบนิติบุคคล คำถามต่อมาคือ แล้วลือกจากอะไรล่ะ? เนื่องจากทั้ง 2 รูปแบบมีอัตราการเสียภาษีที่แตกต่างกัน ดังนั้นให้เราคิดง่ายๆ จากรายได้สุทธิหรือกำไร
หากตอนนี้คุณดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา และมีรายได้สุทธิตั้งแต่ 750,001 บาท ขึ้นไป แนะนำให้ไปจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคลในรูปแบบ SMEs เนื่องจากหากเป็น “บุคคลธรรมดา” จะเสียภาษีในอัตราภาษี 20% ในขณะที่การเป็น “นิติบุคคล” เสียภาษีที่ 15% นั่นเอง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการตัดสินใจจดทะเบียนบริษัทเพื่อเปลี่ยนจากบุคคลธรรมดามาเป็นนิติบุคคล ยังมีอีกหลากหลายปัจจัยให้เราหยิบมาวิเคราะห์ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ สัญญาณชี้ชัดควรจดทะเบียนบริษัทแล้วหรือยัง?
จริงๆ แล้วภาษีสามารถทุเลาลงได้โดยไม่ใช้วิธีที่ผิดกฎหมายภาษีอากร หรือการลบหนีภาษีนะคะ ซึ่งหลายๆ ครั้งที่เจ้าของธุรกิจ SMEs อย่างเราๆ ละเลยเรื่องของบัญชี ก็เป็นอีกจุดบอดที่ทำให้เราเสียภาษีมากเกินจำเป็น ดังนั้นเราควรวางแผนการทำบัญชีบริษัท ระยะเวลาเสียภาษีให้รัดกุมและถูกต้อง เก็บเอกสารค่าใช้จ่ายอย่างถูกวิธีและครบถ้วน เพียงแค่นี้ก็เป็นการลดเรื่องค่าปรับต่างๆ ไปได้เปราะหนึ่งแล้วล่ะค่ะ นอกจากนี้กรมสรรพากรยังมีนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้จัดทำบัญชีอย่างถูกต้อง โดยการออกโปรแกรมบัญชีให้ดาวน์โหลดมาใช้ฟรีได้เลยค่ะ โปรแกรมบัญชีอย่างง่าย และนอกจากวิธีการวางแผนทางด้านบัญชีแล้ว เรามาดูดีกว่าว่าเราจะลดหย่อนภาษีบริษัทได้ด้วยวิธีไหนอีกบ้าง
สำหรับใครที่เลือกได้แล้วว่าเราจะดำเนินธุรกิจ SMEs แบบนิติบุคคล และมีรายได้สุทธิเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี มีหน้าที่ต้องไปจดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ จด Vat 7% อีกด้วยนะคะ เจ้าของธุรกิจจะเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดโดยดูจากการประมาณการรายได้ของธุรกิจ หรือเมื่อรายได้ถึง 1.8 ล้านบาทแล้ว ให้รีบไปจดภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้เงินถึง 1.8 ล้านบาท เพราะเมื่อถึงรอบบัญชีที่ต้องจ่ายภาษี และกรมสรรพากรพบว่าบริษัทของเราละเลยในจุดนี้ไป จากลดหย่อนภาระทางภาษีจะกลายเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้ธุรกิจได้ เพราะสรรพากรจะเก็บภาษีเพิ่มเป็น 2 เท่า และเรียกเก็บภาษีเพิ่มได้อีก 1.5% ต่อเดือนเลยทีเดียว
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนะคะ มีธุรกิจบางประเภทที่ได้รับการละเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ใครที่ไม่แน่ใจว่าธุรกิจของเราเข้าข่ายหรือไม่ สามารถเข้าไปตรวจสอบเพิ่มเติมได้ที่กรมสรรพากรเลยค่ะ
เป็นที่ทราบกันดีว่าบุคคลธรรมดา มีการลดหย่อนภาษีด้วยวิธีต่างๆ มากมาย เช่น ลดหย่อนภาษีบุตร คู่สมรส พ่อแม่ หรือพวกกองทุนต่างๆ สำหรับฝั่งนิติบุคคลก็มีเช่นกันค่ะ นั่นคือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีนิติบุคคล (SMEs) เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่อยากแนะนำให้ผู้ประกอบการธุรกิจทั้งหลาย สละเวลามาศึกษาในส่วนนี้ เพราะเป็นอีกวิธีในการช่วยลดหย่อนภาษีให้กับบริษัทของเรา
เนื่องจากหลักการคิดภาษีนิติบุคคลคือ (รายได้-รายจ่าย=กำไร) และนำกำไรไปคิดภาษีที่ต้องจ่าย หากมีสิ่งที่สามารถเพิ่มรายจ่ายนอกเหนือจากรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงให้กับบริษัท ย่อมทำให้กำไรดูน้อยลง เมื่อนำกำไรที่น้อยลงถูกนำไปคิดภาษี จึงเป็นที่มาของการจ่ายภาษีที่น้อยลงนั่นเอง วันนี้หากเราพิจารณาดีๆ บางทีสิ่งที่บริษัทของเราทำอยู่อาจจะเข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เหล่านี้ได้นะคะ
การลดหย่อนภาษีธุรกิจ SMEs (นิติบุคคล) ด้วยสิทธิประโยชน์แรก คือ บริษัทใดที่มีค่าใช้จ่ายในการจ้างเด็กฝึกงานสายบัญชีเข้ามาทำงานในกิจการ สามารถนำค่าใช้จ่ายมาคิดเป็น 2 เท่าได้ค่ะ โดยค่าใช้จ่ายนี้จะต้องเกิดขึ้นไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2561 นะคะ
ข้อนี้เป็นอีกหนึ่งนโยบายของกรมสรรพากรที่ออกมาสนับสนุน SMEs เกี่ยวกับการลดหย่อนภาษี โดยธุรกิจ SMEs ใดใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือมีการจ้างทำโปรแกรม ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สามารถนำมาคิดเป็นรายจ่ายเพื่อหักภาษีได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท และต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่าง 1 ม.ค. 2560 ถึง 31 ธันวาคม 2562
เนื่องจากการทำธุรกิจจะต้องประกอบไปด้วยทรัพย์สินต่างๆ อยู่แล้ว สำหรับบริษัท SMEs ได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีจากค่าเสื่อมและสึกหรอของสิ่งของต่างๆ ได้ โดยทรัพย์สินที่นำมาคิดมีทั้ง
-ทรัพย์สินประเภทคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์คอม และโปรแกรมคอมฯ คิดค่าสึกหรอได้ถึง 40% จากต้นทุนในวันที่ได้มา ที่เหลือทยอยหักภายใน 3 ปี
-ทรัพย์สินประเภทอาคารโรงงาน คิดค่าสึกหรอได้ถึง 25% จากต้นทุนในวันที่ได้มา ที่เหลือทยอยหักภายใน 20 ปี
-ทรัพย์สินประเภทเครื่องจักร อุปกรณ์เครื่องจักร คิดค่าสึกหรอได้ถึง 40% จากต้นทุนในวันที่ได้มา ที่เหลือทยอยหักภายใน 5 ปี
สำหรับนิติบุคคลประเภท SMEs สายบริจาค สามารลดหย่อนภาษีจากการบริจาคให้กับองค์กร หรือที่ต่างๆ และสามารถนำเงินบริจาคมาคิดเป็นรายจ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีได้
-บริจาคให้กับกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สามารถหักรายจ่ายเท่าจำนวนเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาคจริง แต่เมื่อเทียบกับกำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย ค่าบริจาคจะต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไร
-บริจาคให้กับสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี สามารถนำเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาคจริงมาคิดค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า แต่ต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักค่าใช้จ่ายเพื่อการกุศล
- เพื่อให้ธุรกิจประหยัดภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยการจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้กรรมการ
เป็นค่าใช้จ่ายบริษัทในบัญชีได้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องห้ามตาม มาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลกฎหมายรัษฎากร
- เป็นการสร้างสวัสดิการ การออมเพื่อเกษียณให้กับกรรมการ หรือ เพื่อวางแผนค่ารักษาพยาบาลให้กรรมการด้วยประกันสุขภาพ
เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการประกันกรรมการบริษัท (เพื่อเป็นสวัสดิการ)
1) เบี้ยประกันภัยต้องไม่เกิน 5% ของยอดขาย หรือ
2) เบี้ยประกันต้องไม่เกิน 20% ของกำไรสุทธิ
(เปรียบเทียบข้อ 1 และ ข้อ 2 ให้ใช้ข้อที่น้อยที่สุด เป็นสิทธิ)
3) ต้องมีมติที่ประชุมของบริษัท (รายงานการประชุม)
4) ต้องทำให้กรรมการทุกคน เพื่อไม่ให้เข้าข่ายเป็นรายจ่ายต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี (3)
รายจ่ายที่เป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หา รายจ่ายการกุศล
สำหรับบริษัทที่มองเห็นโอกาสและมอบโอกาสให้กับคนชราที่มีศักยภาพในการทำงานให้กับองค์กรของตน การจ้างงานพนักงานที่เป็นวัยชรา สามารถนำค่าแรงมาคิดรายจ่ายได้ถึง 2 เท่า แต่มีเงื่อนไขอื่นๆ ดังนี้
-พนักงานจะต้องอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
-เป็นลูกจ้างอยู่ก่อนแล้ว หรือขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน
-ค่าจ้างพนักงานคนชราจะต้องไม่เกิน 15,000 บาท ต่อเดือน
-จ้างได้ไม่เกิน 10% ของลูกจ้างทั้งหมด
-ไม่เคยเป็นกรรมการฯบริษัท หรือบริษัทในเครือมาก่อน
เพิ่มเติมที่ จ้างงานผู้สูงอายุ หักรายจ่ายได้ 2 เท่า
สำหรับปี 2562 นี้ ครม.ได้มีมติออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งบริษัทและห้างหุ้นส่วนิติบุคคลสามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการลงทุนเกี่ยวกับการส่งเสริม e-Payment ไปหักค่าใช้จ่ายในปีภาษี 2562 ได้ถึง 2 เท่าของรายจ่ายจริง
อะไรบ้างที่เข้าข่ายการลงทุนเพื่อส่งเสริมระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์?
ระบบ POS: สำหรับบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยรายจ่ายที่ลงทุนคือ เครื่องบันทึกการเก็บเงินที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์และระบบ POS หรือระบบรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ทางอธิการบดีกรมสรรพากรกำหนด
รุ่นแนะนำ เครื่องบันทึกเงินสด โอลิมเปีย POS201, เครื่องบันทึกเงินสด ดำ คาสิโอ V-R200+DL-2814+SCANNER, เครื่องบันทึกเงินสด ดำ คาสิโอ V-R200+DL-2814+UPS
e-Tax Invoice & e-Receipt: รายจ่ายที่ลงทุนเพื่อการพัฒนาระบบ ตัวเครื่องหรืออุปกรณ์ และค่าบริการระบบคลาวด์ และระบบที่เกี่ยวกับ e-Tax Invoice และ e-Receipt ต่างๆ
Withholding Tax: รายจ่ายที่ลงทุนเพื่อการพัฒนาระบบ ตัวเครื่องหรืออุปกรณ์ และค่าบริการระบบคลาวด์ และระบบที่เกี่ยวกับ Withholding Tax
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: กรมสรรพากร
อ่านมาจนจบแล้ว ผู้ประกอบการทั้งหลายคงจะเห็นศักยภาพของรายจ่าย ที่สามารถช่วยลดหย่อนภาษีบริษัทได้ แต่สำหรับใครเห็นช่องว่างเรื่อง “รายจ่ายที่น้อยลง ทำให้สามารถคิดภาษีน้อยลงได้” แล้วพยายามสร้างค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อการทำธุรกิจ นำมาคิดรวมในบัญชีบริษัท อย่างเช่น ค่าใช้จ่ายส่วนตัวของผู้ประกอบการเอง ขอเตือนไว้ว่า ห้าม! นำมาปนกับค่าใช้จ่ายบริษัทเด็ดขาด เพราะจะก่อให้เกินปัญหากับสรรพากรตามมาได้แถมเสียเงินเพิ่มโดยไม่รู้ตัวนะคะ
ทั้งหมดนี้เป็นคำแนะนำส่วนหนึ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับบริษัทของตนเอง ถึงแม้การจดทะเบียนบริษัทจะทำให้เราไม่มีสิทธิ์เรื่องลดหย่อนภาษีเหมือนตอนเป็นบุคคลธรรมดา แต่ถ้าเราศึกษาให้ดี จะพบว่ามีสิทธิประโยชน์จากจุดนี้อีกมากมาย เพียงแค่ผู้ประกอบการแบ่งเวลามาศึกษาและใส่ใจ หวังว่าในรอบการเสียภาษีครั้งหน้า ทุกคนจะสามารถหาวิธีลดหย่อนภาษี และจ่ายภาษีได้น้อยลงนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: กรมสรรพากร
ที่มา : https://www.officemate.co.th/blog/ลดหย่อนภาษีsme/