เคล็ด(ไม่)ลับ วางแผนการเงินเพื่อคนที่คุณรัก

  • 9 June 2021
เคล็ด(ไม่)ลับ วางแผนการเงินเพื่อคนที่คุณรัก

     

วางแผนการเงินสำหรับครอบครัว

เพื่อคุณ เพื่อลูก เพื่อคนที่คุณรัก

 

เมื่อเริ่มต้นชีวิตคู่ การวางแผนการเงินสำหรับครอบครัวถือว่าสำคัญมาก

โดยเฉพาะคนที่มีลูกแล้วก็อยากให้ลูกเติบโตอย่างมีคุณภาพ

ได้รับการศึกษาที่เหมาะสม และมีชีวิตที่ดีทั้งครอบครัว

 

หากเป็นในละครตอนจบ เมื่อพระเอกกับนางเอกสมหวัง

และแต่งงานกัน นั่นคือการจบบริบูรณ์ แต่ในความเป็นจริง

การแต่งงานคือจุดเริ่มต้นชีวิตบทใหม่

การเริ่มต้นสร้างครอบครัว การใช้ชีวิตร่วมกัน

ชีวิตจึงไม่ใช่แค่คน ๆ เดียว

แต่หมายรวมถึงชีวิตคู่ และลูกที่กำลังจะเกิดมา

ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนชีวิตครอบครัวและวางแผนการเงินให้รอบคอบ

หากสถานะทางการเงินในครอบครัวดี จะส่งผลทำให้ความเครียดลดลง

และทำให้มีโอกาสประคับประคองชีวิตคู่ต่อไปได้อย่างราบรื่น

 

เรามาดูเคล็ด(ไม่)ลับ วางแผนการเงินสำหรับครอบครัวอย่างชาญฉลาดกันดีกว่า

 

  • คำนวณการเงินและค่าใช้จ่ายตลอดชีพ

       คุณต้องคำนวณออกมาว่า รายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เหลืออยู่เท่าไร

เมื่อรวมกันทั้งของคุณและคู่รักแล้วเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่

ส่วนมูลค่าทรัพย์สินเท่าไรดีถึงจะเพียงพอ ขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกในครอบครัว

ค่าใช้จ่ายต่อเดือนของสมาชิกแต่ละคน และระยะเวลาที่ต้องเลี้ยงดู

เช่น เมื่อคำนวณแล้วว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 10 ล้าน ภายในอายุ 60 ปี

คุณก็ต้องมาดูแล้วว่าคุณจะสามารถหาเงินให้ได้ตามนั้นได้อย่างไร

และจะบริหารการเงินอย่างไรให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในอนาคตเหล่านั้น

 

  • จัดการทรัพย์สินและหนี้สินให้ดี

       จุดสำคัญ คือ ทรัพย์สินต้องเพิ่มมูลค่าเอาชนะเงินเฟ้อให้ได้

ซึ่งประเทศไทยมีเงินเฟ้อเฉลี่ยประมาณ 3% ต่อปี

แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เพียงแค่ 0.5% ต่อปี

จึงควรมองหาลู่ทางการออมและการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

อย่างบัญชีเงินฝากประจำดอกเบี้ยสูง พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ประกันชีวิต

กองทุนรวม หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ให้เช่า

ในส่วนของหนี้สินไม่ควรเกิน 45% ของรายได้

เพราะถ้าจ่ายไม่ไหวจะกลายเป็นหนี้เสีย

ซึ่งหนี้เสียส่วนใหญ่จะมาจากบ้าน รถยนต์ บัตรเครดิต และสินเชื่อเงินสด

ดังนั้นหากคุณคิดจะมีลูกหรือมีลูกแล้ว ควรบริหารส่วนนี้ให้ดี

อะไรไม่จำเป็นก็ไม่ต้องซื้อ ให้นึกถึงอนาคตของลูกไว้ก่อน

 

  • รายได้ต้องมากกว่ารายจ่าย

       สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกแล้วต้องทำงาน ควรคำนึงถึงเรื่องนี้อย่างดี

ต้องคิดไว้เสมอว่ารายได้ต้องมากกว่ารายจ่ายพอสมควร

และรายได้ต้องมีหลายทางเพื่อเป็นหลักประกันว่า

หากรายได้หลักสะดุดยังคงมีรายได้จากทางอื่นเข้ามาเสริมอยู่

โดยรายได้แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

รายได้ทางตรงจากการทำงาน และรายได้จากทรัพย์สินสร้างเงิน

รายได้อย่างหลังมีความสำคัญมาก แม้ว่าคุณจะขาดรายได้ทางตรงไป

แต่รายได้จากทรัพย์สินสร้างเงินก็ยังมีอยู่

เช่น การลงทุนกับหุ้น อสังหาริมทรัพย์ ประกันชีวิต เป็นต้น

 

  • การวางแผนการเงินตามเป้าหมาย

   1. เป้าหมายระยะสั้น

      สำหรับคนที่กำลังจะแต่งงานสร้างครอบครัว

ก็จะต้องมีการวางแผนการเงินแบบระยะสั้นไว้บ้าง

ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงาน การซื้อบ้าน ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

ทั้งในบ้านและนอกบ้าน และอาจจะมองไปถึงค่าใช้จ่ายหากต้องการจะมีลูกด้วย

นอกจากนี้การทำประกันก็น่าสนใจเหมือนกัน

ควรจะต้องพิจารณาทำประกันชีวิตด้วยทุนประกันที่เหมาะสม

ขั้นต่ำควรมีทุนประกัน 5 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งปี

เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับหัวหน้าครอบครัวขึ้น

เป้าหมายทางการเงินของครอบครัวจะได้ไม่สะดุดไป

 

  2. เป้าหมายระยะกลาง

     การตั้งเป้าหมายเพื่อวางแผนการเงินแบบระยะกลาง

ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของลูก

หากคุณมีลูกหลังอายุ 30 แม้ว่าคู่รักส่วนใหญ่

จะมีอาชีพที่ค่อนข้างมั่นคง สามารถเลี้ยงดูบุตรได้อย่างมีคุณภาพ

ทว่าในขณะเดียวกัน บางคู่อาจต้องพบกับภาวะมีบุตรยาก

แต่หากคุณถอดใจไม่อยากมีลูกก็แล้วไป แต่หากยังต้องการมีลูก

ก็ต้องไปพึ่งพาเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง

ดังนั้นควรจะคำนึงถึงปัญหาข้อนี้ด้วย คุณกับคู่รักควรพูดคุยและวางแผน

เรื่องลูกให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นใช้ชีวิตคู่ เพื่อจะได้มีการเตรียมค่าใช้จ่ายเอาไว้อย่างเหมาะสม

 

  3. เป้าหมายระยะยาว

      ในส่วนนี้จะเน้นไปในเรื่องของการเลี้ยงดูลูกจนเติบใหญ่

วางแผนการศึกษาที่เหมาะสม

ตลอดจนการวางแผนใช้ชีวิตในวัยเกษียณอายุ

จริง ๆ แล้วการวางแผนในวัยเกษียณนั้นสำคัญมาก

ซึ่งหลายคนชอบมองข้ามแล้วไปให้ความสนใจกับลูกมากกว่า

บางคนอาจจะคิดว่าเมื่อลูกโตแล้วก็คงทำงานและมาเลี้ยงดูพ่อแม่

แต่จริง ๆ แล้วพ่อแม่เองก็ควรวางแผนเพื่อตัวเอง

จะได้ไม่ต้องพึ่งพาหรือเป็นภาระของลูกจนเกินไป

เมื่อลูกเติบโตก็ให้เขาได้ไปใช้ชีวิตและดูแลตัวเองเป็นหลักจะดีกว่า

 

      แม้ว่าในแต่ละครอบครัวจะมีความแตกต่างกัน

มีข้อจำกัดและปัจจัยต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน

ทำให้บางครอบครัวไม่สามารถบริหารการเงินออกมาได้ตามแผน 100%

แต่อย่างน้อยหากได้ลองทำตามข้อเสนอแนะข้างต้น

เชื่อว่าจะทำให้สามารถบริหารการเงินในครอบครัวได้ดีขึ้นไม่มากก็น้อย

 

อ้างอิง

วางแผนการเงินฉบับคนมีคู่ [Internet]. Scb.co.th. [cited 2021 Jan 18].

 Available from: www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/money-management-for-couples.html

 

ติดต่อ : 083 436 5947

Tags :