อาหารเพื่อการเตรียมตัวมีบุตร

  • 19 June 2021
อาหารเพื่อการเตรียมตัวมีบุตร
 
อาหารเพื่อการเตรียมตัวมีบุตร สำหรับคุณพ่อและคุณแม่
 
สำหรับคู่รักที่กำลังวางแผนจะมีบุตรอาหารที่คุณรับประทาน มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้
และเมื่อตั้งครรภ์แล้วอาหารยิ่งมีความสำคัญต่อความแข็งแรงของแม่และทารก
เพราะฉะนั้นไปดูกันว่าสำหรับคุณผู้หญิงและคุณผู้ชายควรเลือกรับประทานอาหารประเภทไหน
เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการมีลูกน้อย
 
 

อาหารสำหรับคุณผู้หญิง

เมื่อเตรียมตัวจะเป็นคุณแม่แล้วควรเตรียมสุขภาพให้แข็งแรง
ด้วยการรับประทานอาหารให้ครบถ้วนอย่างน้อย 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์
เพื่อสุขภาพของคุณแม่และลูกในท้อง อาหารและสารอาหารที่จำเป็นนั้น ได้แก่
 
  • โฟเลต
จำเป็นอย่างมากในการสร้างเม็ดเลือดแดงและช่วยป้องกันภาวะไขสันหลังไม่ปิดในทารก
ซึ่งหากขาดแล้วจะทำให้เกิดความพิการของสมองและไขสันหลังได้
 
โฟเลตพบได้ใน ผักโดยเฉพาะผักใบเขียว เช่น คะน้า ตำลึง ปวยเล้ง
และ ผลไม้ เช่น กล้วย มะละกอ ส้ม สับปะรด ฝรั่ง
 
  • แคลเซียม
แหล่งอาหารที่มีแคลเซียมสูงพบได้ในนมและผลิตภัณฑ์จากนม
เช่น โยเกิร์ต ชีส นอกจากนี้ยังพบในเต้าหู้แข็ง งา และผักใบเขียว
โดยแนะนำให้ผู้หญิงที่เตรียมตั้งครรภ์ดื่มนมอย่างน้อยวันละ 3 แก้ว เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน 
โดยนม 1 แก้วมีปริมาณแคลเซียมประมาณ 1 ใน 3 ของที่ร่างกายต้องการ (1,000 มิลลิกรัมต่อวัน)
 
  •  ไอโอดีน
ไอโอดีนมีความจำเป็นในการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ที่มีผลต่อพัฒนาการของร่างกายระบบประสาทและสมอง
หากขาดไอโอดีนแล้ว อาจทำให้ลูกน้อยเกิดความเสี่ยงของภาวะพิการทางสมอง หรือไอคิวลดลงได้
อาหารที่มีไอโอดีนสูงนั้น ได้แก่ อาหารทะเล เช่น กุ้ง ปลาทะเล และเกลือ หรือเครื่องปรุงที่มีการเสริมไอโอดีน
นอกจากนี้ยังมีการแนะนำให้หญิงก่อนตั้งครรภ์ควรได้รับยาเม็ดเสริมไอโอดีนอย่างน้อย 150 ไมโครกรัม/วัน
ส่วนหญิงตั้งครรภ์แล้วความต้องการไอโอดีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 250 ไมโครกรัม/วัน
และหากวางแผนจะมีลูกควรเตรียมตัวล่วงหน้าอย่างน้อย 5 เดือน
 
  • อาหารเสริมที่จำเป็น
การเสริมกรดโฟลิกปริมาณ 400 ไมโครกรัม/วัน จำเป็นอย่างยิ่ง โดยคุณผู้หญิงที่วางแผนจะมีบุตร
ควรได้รับอาหารเสริมอย่างน้อย 1 - 3 เดือน ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนถึงเดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์
 
 
อาหารสำหรับคุณผู้ชาย
 
มาถึงด้านผู้ชายกันบ้างใช่ว่าอาหารสำหรับการเตรียมมีบุตรจะสำคัญต่อผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว
 
รู้หรือไม่ว่า ? อาหารฝ่ายชายก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
โดยจะมีผลต่อทั้งปริมาณและคุณภาพของอสุจินั่นเอง
 
 
  • ซิงค์ หรือ สังกะสี
ซิงค์หรือสังกะสี เป็นสารอาหารสำคัญมากสำหรับระบบสืนพันธุ์ของเพศชาย
ทั้งด้านของคุณภาพของสเปิร์มและเป็นตัวควบคุมความสมดุลของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (ฮอร์โมนเพศชาย)
แหล่งอาหารที่มีซิงค์ปริมาณมาก คือ อาหารทะเลโดยเฉพาะหอยนางรม เนื้อวัวและเนื้อไก่
นมและผลิตภัณฑ์จากนมซีเรียล รวมทั้งถั่วชนิดต่างๆ
 
 
อาหารอื่นๆ
 
  • นมพร่องมันเนย
บางงานวิจัยพบว่าผู้ชายในกลุ่มที่ดื่มนมพร่องมันเนย
จะมีคุณภาพของสเปิร์มที่ดีกว่ากลุ่มที่ดื่มนมที่มีไขมันเต็มส่วน
 
  • ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้านอนุมูลอิสระ
เช่น วิตามินซี ดี อี เบตาแคโรทีน เซเรเนียม ซิงค์
ยังให้ผลลัพธ์ไม่ชัดเจนในกลุ่มผู้ชายทั่วไป 
แต่ให้ผลที่ดีในกลุ่มผู้ชายที่อยู่ในกลุ่มภาวะมีบุตรยาก
 
 
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง / ลดปริมาณ
การบริโภคน้ำตาลปริมาณมากมีผลทำให้คุณภาพของน้ำอสุจิลดลง และเสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยาก
ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงน้ำตาลเชิงเดี่ยวที่อยู่ในเครื่องดื่มน้ำตาลสูง เช่น
น้ำอัดลม ชาเขียวเย็น ชานมเครื่องดื่มชูกำลัง ขนมหวาน เบเกอรี่รสหวานต่างๆ
 
 
สรุปโดยรวมก็คือ : )
 
ทั้งในผู้หญิงและผู้ชายควรรับประทานอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วน
 
โดยเน้นโปรตีนจากปลาอาหารทะเล ไก่และไข่ ดื่มนมพร่องมันเนย
เลือกทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ได้แก่ ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีท ธัญพืชไม่ขัดสี
หลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ และ ไขมันอิ่มตัว รวมไปถึงน้ำตาลในปริมาณสูงเกินไป
 
ทานผักและผลไม้ให้เพียงพอ 
เพราะจะช่วยเพิ่มสารต้านอนูมูลอิสระเสริมสร้างร่างกายและระบบสืบพันธุ์ให้สมบูรณ์
 
การดูแลปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยาก ได้แก่
- อายุที่มากขึ้น (ผู้หญิงอายุมากกว่า 35 ปี)
- การสูบบุหรี่
- น้ำหนักตัวตามดัชนีมวลกาย(BMI) ที่มากหรือน้อยเกินไป
(ต่ำกว่า 18.5 หรือสูงกว่า 24 กิโลกรัม/เมตร2
 
โดยเฉพาะผู้ที่มี BMI มากกว่า 31 กิโลกรัม/เมตร2 มีโอกาสมีบุตรยากสูงถึง 1.7 เท่า
เมื่อเทียบกับผู้ที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือ ที่ BMI 18.5 - 22.9 กิโลกรัม/เมตร2 )
เพราะฉะนั้นควรออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อช่วยทั้งเรื่องการควบคุมน้ำหนัก ,
การลดความเครียดและช่วยให้ฮอร์โมนในร่างกายสมดุลอีกด้วย
 
 
 
ติดต่อ : 083 436 5947

Tags :