การเปลี่ยนแปลงของร่างกายตอนท้อง
และ 5 เรื่อง ที่ต้องเจอระหว่างตั้งครรภ์
ค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัวตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือนของแม่ท้อง จะมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นประมาณ 10 - 16 กิโลกรัม
โดยในแต่ละไตรมาสของการตั้งครรภ์ น้ำหนักตัวของแม่ท้องจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย ดังนี้
ในช่วง 3 เดือนแรก อาจจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 - 2 กิโลกรัม
ทั้งนี้ ในช่วง
ไตรมาสแรก แม่ท้องส่วนใหญ่มักมีอาการแพ้ท้อง
ทำให้ทานอาหารได้น้อย จึงส่งผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไม่มาก
ไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์
น้ำหนักตัวของแม่ท้องจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4 - 5 กิโลกรัม
ไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์
น้ำหนักตัวของแม่ท้องจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5 - 6 กิโลกรัม
ท้องลาย เกิดจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของผิวหนัง และเนื้อเยื่อในเวลาอันรวดเร็ว
ทำให้เส้นใยโปรตีนอีลาสติน (Elastin) และคอลลาเจน (Collagen) บริเวณผิวหนังชั้นในสุดถูกยืดออก
ส่งผลให้โครงสร้างคอลลาเจนถูกทำลาย และทำงานผิดปกติ
รวมทั้งฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะในช่วงใกล้คลอด ประกอบกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
เกินกว่าผิวหนังจะขยายตัวตามได้ทัน จึงทำให้เกิดรอยแตกบริเวณหน้าท้อง เต้านม สะโพก ต้นขา และบั้นท้าย
เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น หน้าท้องของคุณแม่ก็จะขยายออกไปมากขึ้นด้วย
โดยในช่วงประมาณเดือนที่ 4 ของการตั้งครรภ์ อาจคลำพบก้อนแข็ง
นูนขึ้นมาบริเวณเหนือหัวหน่าว ซึ่งก็คือมดลูกที่โตจากอุ้งเชิงกรานจนไปถึงระดับสะดือ
และเมื่อเข้าสู่ช่วงใกล้คลอด ยอดมดลูกที่โตขึ้นมาจนถึงระดับลิ้นปี่ ก็จะยิ่งทำให้คุณแม่ท้องรู้สึกอึดอัดมากกว่าปกติ
หลังจากช่วงเดือนที่ 2 ของการตั้งครรภ์
เส้นเลือดบริเวณเต้านมจะเริ่มขยาย หัวนมก็จะเริ่มขยายใหญ่ และมีสีคล้ำขึ้น
เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนตอนท้อง
ซึ่งฮอร์โมนนี้ จะไปกระตุ้นให้ร่างกายเร่งผลิตสารเมลานิน (Melanin) ออกมาเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเวลาปกติ
และเมื่อสารเมลานินเพิ่มปริมาณมากขึ้น ก็จะทำให้ผิวหนังมีสีคล้ำลง โดยเฉพาะบริเวณที่มีเม็ดสีกระจุกรวมกันอยู่แล้ว
เช่น กระ รอยแผลเป็น และบริเวณปานนม บางครั้งก็อาจจะมีก้อนนูนที่ใต้รักแร้ ซึ่งเป็นส่วนปลายของเต้านมที่ขยายขนาดขึ้น
ในระหว่างตั้งครรภ์ อาจจะมีมูกและตกขาวเพิ่มขึ้น
แม่ท้องควรทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดเฉพาะภายนอก แต่หากมีอาการผิดปกติ
เช่น มีสีผิดปกติหรือมีกลิ่นเหม็น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
สัญญาณอันตราย ที่แม่ท้องต้องรีบไปพบคุณหมอโดยด่วน
มีเลือดออกทางช่องคลอด ปวดศีรษะรุนแรง ร่วมกับมีอาการตาพร่า
ปวดหลัง มีไข้สูง และหนาวสั่น นิ้วมือ หรือเท้าบวมมาก หรือบวมไปทั้งตัว ปัสสาวะแสบขัด
มีน้ำไหลออกมาจากช่องคลอด หรือที่เรียกกันว่าน้ำเดิน
ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง อาเจียนอย่างรุนแรง ลูกดิ้นน้อยลง หรือไม่ดิ้นเลย
ในระหว่างการตั้งครรภ์ แม้ว่าคุณแม่อาจจะต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆมากมาย
สิ่งสำคัญคือ ควรหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ โดยการนอนพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง
ควรมีเวลางีบหลับในตอนกลางวันอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
และควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ